วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

โรคที่มากับน้ำท่วมมีอะไรบ้าง



โรคที่มากับน้ำท่วมมีอะไรบ้าง

หมวดหมู่: สุขภาพ
ฤดูฝนนอกจากไม่ว่าจะเป็นฝนตกหนักแล้วอาจจะมีน้ำหลาก ทำให้เราอาจจะประสบปัญหาน้ำท่วมได้ตลอดเวลา น้ำท่วมไม่ได้นำมาซึ่งความเสียหายต่อทรัพย์สิน เรือกสวนไร่ และธุรกิจเท่านั้น แต่น้ำท่วมยังนำโรคต่างๆมาด้วย โรคที่มากับน้ำท่วมมีหลายโรค ซึ่งแต่ละโรคมีความรุนแรงตั้งแต่สร้างความรำคาญ จนถึงสามารถทำให้เสียชีวิตได้ มาดูกันครับว่ามีโรคอะไรกันบ้าง

1. โรคน้ำกัดเท้า
เป็นโรคที่คู่กับน้ำท่วมมาทุกยุคทุกสมัย เกิดจากความเปียกและอับชื้นบริเวณเท้าและง่ามนิ้วเท้า ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผิวหนังบริเวณนั้นหลุดลอกออก ทำให้เชื้อโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อราสามารถเข้าไปฝังตัวบริเวณนั้น ทำให้เกิดแผลผุพอง ผื่นคัน และสามารถอักเสบเป็นหนองได้ ทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมาน เดินได้ไม่สะดวก
2. โรคฉี่หนู
โรคฉี่หนู หรือ เลปโตสไปโรสิส นั้นเป็นโรคติดต่อประเภทหนึ่งโดยมีหนูเป็นพาหะ สามารถติดต่อจากหนูสู่คนได้ผ่านทางปัสสาวะของหนู ไม่ว่าหนูนั้นจะฉี่ลงน้ำที่ท่วมขังหรือฉี่ลงไปในอาหารที่เรารับประทาน ภายหลังจากหนูฉี่ลงน้ำ เชื้อโรคนี้จะแพร่กระจายอยู่ในน้ำ และจะเข้าสู่ร่างกายเราผ่านทางแผลที่ผิวหนังที่สัมผัสน้ำนั้น
3. โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกมีสาเหตุมาจากยุงลาย ซึ่งมักจะออกหากินเวลากลางวัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้อาเจียน อาการที่สังเกตุได้ง่ายอย่างหนึ่งคือจะมีจุดเล็กๆตามลำตัวและแขน ขา เมื่อมีอาการดังกล่าวอย่าซื้อยามารับประทานเอง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
4. โรคปอดอักเสบ
โรคนี้จะเกิดขึ้นกับผู้ที่สำลักเอาน้ำที่ไม่สะอาดเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ ปอดติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ไอมาก หายใจหอบและเร็ว ผู้มีอาการนี้ควรรีบไปพบแพทย์
5. โรคตาแดง
โรคตาแดงมักจะเกิดจากการสัมผัสกับเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมักจะเกิดจากการใช้มือหรือผ้าเช็คหน้าที่มีเชื้อเหล่านี้ไปสัมผัสดวงตา ผู้ป่วยจะมีอาการคันและเคืองตา บางรายอาจจะมีอาการปวดดวงตา บวมแดง มีขี้ตามาก ร่วมด้วย ส่วนมากอาการจะหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์ ถ้ามีอาการมากควรไปพบแพทย์
6. โรคอหิวาตกโรค
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียประเภท Vibrio Cholerae มักเกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด ซึ่งมีแมลงวันเป็นพาหะ ทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง มีลักษณะอุจจาระเหลวมาก ถ่ายบ่อยทั้งวัน อาการอาจจะหายไปเองได้ แต่ถ้ามีอาการมากต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
7. ไข้ไทฟอยด์
มีชื่อเรียกอีกชื่อว่าไข้รากสาดน้อย เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Enterica Serovar ซึ่งจะอยู่ในน้ำดื่มและอาหารที่ไม่สะอาด มีเชื้อโรคปนอยู่ โดยจะเข้าไปฝังตัวในลำใส้และระบบขับถ่าย ผู้ป่วยจะมีไข้สูง เหงื่อออกมาก กระเพาะและลำไส้อักเสบ มีอาการท้องเสียแบบไม่มีเลือดปน ผู้ป่วยบางรายอาจจะหายได้เองใน 2-4 สัปดาห์ แต่ในรายที่มีอาการแทรกซ้อน เช่น เลือดออกทางเดินอาหาร ลำไส้ทะลุ ไตวาย ช่องท้องอักเสบ อาจจะทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการไข้ไทฟอยด์ การไปพบแพทย์จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
8. โรคเครียดวิตกกังวล
ผู้ประสบเหตุน้ำท่วมย่อมมีอาการเครียดและวิตกกังวล อันเนื่องมาจากความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เกิดขึ้น การทำหากินลำบาก ไปทำงานหรือโรงเรียนไม่ได้ หาซื้อข้าวปลาอาหารลำบาก ดังนั้นอาการเคลียดและซึมเศร้าจึงมักจะเกิดขึ้นกับผู้ประสบภัยทุกคน ความเครียดสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้เช่น โรคกระเพาะอาหาร การทำงานของหัวใจผิดปกติ ปวดศรีษะตลอดเวลา เบื่ออาหาร ดังนั้นเมื่อน้ำท่วม ต้องบริหารจิตของตนเองไม่ให้เครียดมากจนเกินไป หมั่นพูดคุยปรึกษาญาติพี่น้องมากขึ้น
การป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม
- ดื่มน้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุกเท่านั้น
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดบ่อยๆ
- รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่เสมอ
- ป้องกันตัวเองไม่ให้โดนยุงกัด
- ไม่เครียดกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำที่ท่วม ถ้าจำเป็นต้องสัมผัสควรสวมรองเท้าบูตและควรล้างเท้าด้วยสบู่และน้ำสะอาดทุกครั้ง
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระมัดระวังในช่วงน้ำท่วมนอกเหนือไปจากโรคภัยไข้เจ็บก็คือสัตว์มีพิษประเภทต่างๆ เช่น งู แมงป่อง ตะขาบ หรือแม้แต่จระเข้ ดังนั้นในช่วงน้ำท่วม เราต้องซ่อมแซม ปิดช่องรูโหว่ต่างๆที่สัตว์เหล่านี้จะเข้าไปในบ้านได้ การเดินออกมานอกบ้านก้ควรระมัดระวังการทางเดินและควรมีไม้ติดมือไว้เสมอ
จากหลักป้องกันตนเองจากโรคที่มากับน้ำท่วมข้างต้น เป็นวิธีการพื้นฐานที่จะป้องกันตัวเองไม่ให้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แน่นอนว่าการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา แต่ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เกิดอาการโรคต่างๆข้างต้น ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น